ความรู้เกี่ยวกับ "เหล็กชุบต่างๆ"
เหล็กชุบคืออะไร?
ชุบซิ้งค์ ชุบกัลวาไนซ์ ชุบGI ชุบGA ต่างกันอย่างไร??
“เหล็ก” เป็นโลหะที่สำคัญที่สุดสำหรับงานก่อสร้างและอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ของมนุษย์ คุณสมบัติของเหล็กนั้นมีมากมายที่ทั้งโดดเด่นและไม่สามารถทดแทนด้วยโลหะชนิดอื่นได้ ทว่าเหล็กก็มีข้อด้อยข้อหนึ่งที่เป็นปัญหามากๆ นั่นคือ “สนิม (Rusting)” และ “การผุกร่อน (Corrosion)” ซึ่งเกิดขึ้นได้ง่ายแม้แต่จากละอองน้ำและลม ..ในเวลาไม่กี่ปีเหล็กเปลือยเปล่าที่ตอนแรกดูแข็งแกร่งมั่นคงจะผุกร่อนสลายไปและสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างของสิ่งก่อสร้าง มนุษย์จึงพยายามแก้ไขข้อด้อยของเหล็กเหล่านี้โดยพยายามคงไว้ซึ่งคุณสมบัติที่จำเป็นของมันให้ได้ครบถ้วน
เริ่มแรกนั้นมนุษย์แก้ปัญหาการเกิดสนิมด้วยการ “ทาสี” ทับลงไปบนพื้นผิวเหล็ก มีการพัฒนาสูตรทางเคมีของสีให้ยึดเกาะกับเนื้อเหล็กได้ดีและช่วยป้องกันผิวเหล็กจากละอองน้ำและอากาศ การทาสียังเป็นที่นิยมมากจนถึงทุกวันนี้ แต่ก็แลกมาด้วยเวลาที่ต้องเสียไปและค่าจ้างช่างทาสีที่อาจจะสูงกว่าค่าสีหลายเท่า
หลังจากนั้นเราจึงค่อยๆเสาะหาวัสดุอื่นๆที่จะนำมาเคลือบทับบนพื้นผิวหรือผสมลงไปในเนื้อเหล็กเพื่อป้องกันการเกิดสนิม ...ใช่ มนุษย์ได้ค้นพบ “สแตนเลส (Stainless steel)” มันคือโลหะผสม(อัลลอย)ที่เกิดจากเหล็กรวมกับโครเมียม ได้โลหะที่มีน้ำหนัก(มากกว่าเหล็ก)และป้องกันสนิมได้ดีเยี่ยม ...แต่สแตนเลสนั้นกลับมีราคาสูงลิบยิ่งกว่าค่าจ้างช่างสีเสียอีก มันจึงไม่ถูกใช้งานอย่างแพร่หลายนักเมื่อเทียบกับ “การชุบเหล็กด้วยสังกะสี (Galvanizing)” เนื่องจากสังกะสีนั้นเป็นโลหะที่ราคาถูกกว่า กรรมวิธีการชุบบนพื้นผิวเหล็กก็ทำได้ง่ายกว่าการผสมสารรวมเข้าไป และผลิตได้จำนวนมากในเวลาอันรวดเร็ว
การชุบเหล็กด้วยสังกะสี (Galvanizing) นั้นทำได้หลายวิธี แต่ละวิธีก็ได้ผลิตภัณฑ์ที่มีหน้าตา, คุณภาพและการใช้งานแตกต่างกัน โชคร้ายที่ในประเทศไทยนั้นเราก็เรียกชื่อพวกมันอย่างสะเปะสะปะเหลือเกิน ทั้ง “เหล็กชุบซิงค์” “เหล็กชุบสังกะสี” “เหล็กชุบกัลวาไนซ์” “เหล็กชุบGI” “เหล็กHDG” ฯลฯ ซึ่งหลายความสับสนอย่างมากทั้งต่อเจ้าของบ้านและแม้แต่ช่างก่อสร้างเอง
ผมจะมาจำแนกชนิดของเหล็กชุบสังกะสี และอธิบายความแตกต่างของพวกมันให้ครับ
...........................................................................................
1. เหล็กชุบซิงค์, สังกะสี, GI (Prezinc steel, Pre-galvanized steel)
- ผลิตโดยการนำเหล็กแผ่นม้วนใหญ่ไปเคลือบสังกะสีทั้งแผ่นด้วยการเลื่อนม้วนเหล็กผ่านอ่างสังกะสีเหลวอย่างรวดเร็ว ก่อนนำมาตัดพับขึ้นรูปเป็นเหล็กรูปพรรณต่างๆ เช่น เหล็กกล่องซิงค์ เหล็กฉากพับซิงค์ ก่อนเชื่อมเข้าและพ่นสังกะสีทับเนื้อเหล็กจะมีความหนาน้อยไม่เกิน 2mm (เพราะการพับเหล็กแผ่นที่มีความหนา 2mm ขึ้นไปมีค่าใช้จ่ายที่สูง) ชั้นเคลือบสังกะสีมีความหนาประมาณ 5-15ไมครอน โดยถ้าใช้งานกลางแจ้งชั้นสังกะสีจะสลายไปประมาณปีละ 1ไมครอน
- เหมาะกับงานภายในที่ไม่โดนแดดโดนฝนและไม่ได้รับน้ำหนักมาก แต่ก็สามารถใช้งานภายนอกได้แม้อายุการใช้งานจะไม่นานนัก พื้นผิวทาสีรองพื้นไม่ติด
- สินค้าที่ "ร้านเหล็กมาบุญยงค์" มีจำหน่าย : เหล็กกล่องไม้ขีดชุบซิงค์GI เหล็กกล่องจัตุรัสชุบซิงค์GI เหล็กฉากพับชุบซิงค์GI เหล็กตัวซีชุบซิงค์GI
...........................................................................................
2. เหล็กชุบกัลวาไนซ์, HDG (Hot dip galvanized steel)
- ผลิตโดยการนำเหล็กรูปพรรณที่ขึ้นรูปเรียบร้อยแล้ว (ไม่ว่าจะรีดร้อนหรือขึ้นรูปเย็นก็ได้ จะมีความหนามากน้อยเท่าใดก็ได้) ไปจุ่มในอ่างสังกะสีเหลวร้อน จะได้ชั้นสังกะสีหนาราว 50-300ไมครอน การจุ่มในอ่างสังกะสีเหลวทั้งชิ้นงานทำให้ได้ชั้นเคลือบทั่วถึงทั้งนอกในรวมถึงรอยต่อต่างๆ แต่พื้นผิวจะปรากฎลายดอกดวงอันเป็นเอกลักษณ์ของการจุ่มสังกะสีร้อนทำให้ไม่สวยงามนัก
- เหมาะกับงานภายนอกอย่างมาก สามารถทนแดดทนฝนได้ยาวนาน 50 ปีขึ้นไป เนื่องจากเป็นการนำเหล็กรูปพรรณไปจุ่มสังกะสีจึงได้ผลิตภัณฑ์ที่ใช้งานได้หลากหลายตามสเปคดั่งเดิมของเหล็กนั้นๆ แต่อาจจะไม่เหมาะกับงานตกแต่งที่เน้นความสวยงาม
** ถ้าเป็นแผ่นเรียบ ในไทยนิยมเรียกว่า "แผ่นสังกะสี"
- สินค้าที่ "ร้านเหล็กมาบุญยงค์" มีจำหน่าย : เหล็กแผ่นชุบสังกะสี
...........................................................................................
3. เหล็กชุบซิงค์เทา, GA (Galvanealed steel)
- การผลิตคล้ายกับเหล็กชุบกัลวาไนซ์หรือHDGในข้อก่อนหน้า คือนำเหล็กไปจุ่มในสังกะสีเหลวร้อน แต่หลังจากนั้นจะทำการตัดพื้นผิวเคลือบด้วยลม (Air knife) ทำให้ได้ชั้นเคลือบที่มีความหนาตามต้องการพอดี ก่อนนำไปเข้าเตาเผาเพื่อให้ชั้นเคลือบสังกะสีกับผิวเนื้อเหล็กหลอมเข้าด้วยกันเป็นโลหะผสม (Alloy) ได้ผิวเนียนสวยสีเทาด้านสม่ำเสมอทั้งชิ้นงาน มีคุณสมบัติพิเศษคือพื้นผิวจะยึดติดกับโมเลกุลของสีได้ดี แต่ทำให้เหล็กเปราะแตกง่าย
- เหมาะกับงานประดับยนต์ งานยานพาหนะต่างๆ ใช้โป๊วเข้ากับผิวรถก่อนทำสีทับ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ขึ้นรูปใหม่หรือทำเป็นโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนัก
- สินค้าที่ "ร้านเหล็กมาบุญยงค์" มีจำหน่าย : เหล็กฉากพับชุบซิงค์GA
...........................................................................................
4. เหล็กแผ่นชุบซิ้งค์ (Electro-galvanized steel, Electro plating steel)
- การผลิตแทบจะเหมือนกับเหล็กชุบซิงค์เทาหรือเหล็กGAอย่างมาก แตกต่างกันตรงที่มีการใช้ไฟฟ้าเหนี่ยวนำในขั้นตอนการจุ่มเหล็กลงในสังกะสีเหลว ได้ผลิตภัณฑ์คล้ายคลึงกันมาก
- เหมาะกับงานประดับยนต์ งานยานพาหนะต่างๆ ใช้โป๊วเข้ากับผิวรถก่อนทำสีทับ แต่ไม่เหมาะกับการใช้ขึ้นรูปใหม่หรือทำเป็นโครงสร้างที่ต้องรับน้ำหนัก
- สินค้าที่ "ร้านเหล็กมาบุญยงค์" มีจำหน่าย : เหล็กแผ่นชุบซิงค์
...........................................................................................
หากคุณลูกค้ามีข้อสงสัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับสเปค ขนาด การใช้งาน สินค้าประเภทแผ่นโลหะหรือสินค้าอื่นๆ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่ Line @maboonyong หรือเบอร์ 02-090-2587 ‘ร้านเหล็กมาบุญยงค์’ ยินดีให้คำแนะนำข้อมูลครับ
อนุชาติ พนมโชคไพศาล
(ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ บริษัท มาบุญยงค์กรุ๊ป จำกัด)
...........................................................................................